วิษณุ ชี้ ยอดบริจาคช่วยเหลือน้ำท่วมเดินแจกเลยไม่ได้ เพราะมีวัตถุประสงค์ต่างจากเอกชน เนื่องจากมีระเบียบตายตัว มีกรอบของมันอยู่ ต้องตรวจสอบความเสียหายและรายงานผ่านทางจังหวัด และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

สำหรับยอดบริจาคที่มีผู้ใจบุญบริจาคมาที่ รายการ "ร่วมใจ พี่น้องไทย ช่วยภัยน้ำท่วม" รวมเป็นเงินทั้งหมด หลังปิดรายการ 22.00 น. มากกว่า 263 ล้านบาท นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงเกณฑ์การใช้เงินที่ได้รับบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคอีสานโดยไม่กระทบต่อกฎหมาย ว่า การที่เอกชนหรือใครก็ตาม แม้กระทั่ง นายบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ที่ลงไปช่วยเหลือนั้นเป็นเรื่องดี ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบอะไร แต่เงินที่ได้รับบริจาคเข้าเงินกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยของรัฐบาลนั้น มีระเบียบตายตัว มีกรอบของมันอยู่ ต้องตรวจสอบความเสียหายและรายงานผ่านทางจังหวัด และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)
“อยู่ดีๆ จะไปถือเงินแจก ทำอย่างนั้นเหมือนเอกชนไม่ได้ เพราะถ้าทำได้มันจะเกิดการเลือกที่รักมักที่ชัง เช่น บ้านนี้ ตำบลนี้ อำเภอนี้เป็นหัวคะแนน เอาไปเลย 2 หมื่น บ้านโน้นไม่รู้อย่างไรเอาไป 2 พัน จำได้หรือไม่ มีรัฐบาลสมัยหนึ่ง มีกองทุนทำนองนี้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย แต่พื้นที่นี้ได้ 2 ล้าน แต่อีกพื้นที่ให้ 7 ล้าน ทุกวันนี้คดีอยู่ยังอยู่ในป.ป.ช. ยังไม่ตัดสินเลย อย่างไรก็ตามเงินบริจาคเมื่อเข้ามาอยู่ในกองทุนก็อยู่ภายใต้การตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)”



เมื่อถามว่าเงินในส่วนที่รัฐบาลรับบริจาค เมื่อเอาไปช่วยประชาชนผู้ประสบอุทักภัย อาจจะซ้ำกับเงินของทางนายบิณฑ์หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า คงไม่ซ้ำ เพราะทางนายบิณฑ์ ช่วยเหลือบรรเทาไปเพื่อซื้ออาหาร ประทังชีวิตเฉพาะหน้า แต่เงินของกองทุนนั้นจะเอาไปช่วยในเรื่องการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ซื้อปศุสัตว์คืนให้เขา หรือเอาไปใช้ในการฟื้นฟู แต่ไม่รวมถึงการทำถนนหนทาง เพราะส่วนนั้นใช้งบประมาณแผ่นดิน ไม่ใช้เงินบริจาค ดังนั้นวัตถุประสงค์ต่างกัน วิธีการจ่ายก็ต่างกัน ที่นายกฯ พูดว่าการช่วยเหลือน้ำท่วมของรัฐบาลมี 3 ระยะ คือ 1.ป้องกัน คือก่อนเกิดเหตุ 2.ระหว่างกำลังเกิดเหตุ และ3. ฟื้นฟูภายหลังน้ำลด
กรณีของนายบิณฑ์ คืออยู่ในช่วงระหว่างเกิดเหตุเป็นเรื่องที่ดี วันนี้การที่จะให้คนที่นั่งอยู่บนหลังคาบ้าน เขามีโอกาสหรือรู้ว่าเขาได้เงินอยู่ในมือนั้นเป็นสิ่งที่ดี อย่างน้อยก็ในเรื่องกำลังใจ เมื่อน้ำลด ปีนลงมาจากหลังคาก็พอที่จะซื้ออะไรต่ออะไรได้ แต่จะได้บ้านใหม่กลับคืนมา หรือจะได้เรือหรือวัวควายกลับคืนมา อาจจะใช้เงินของเอกชนลำบาก ต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน หรือกองทุนบรรเทาสาธารณะภัยของรัฐ



ผู้สื่อข่าวถามว่า ดังนั้นรัฐบาลต้องยอมรับเสียงวิจารณ์ที่บอกว่ารัฐเข้าไปช่วยเหลือล่าช้ากว่าภาคเอกชนหรือบุคคลอื่นๆ นายวิษณุ กล่าวว่า ยอมรับเพราะกลไกมันก็เป็นเช่นนั้น แต่การช่วยเหลือล่าช้าในที่นี้ คือช่วยเหลือการเข้าไปถึงประชาชน แต่การเข้าไปถึงที่เกิดเหตุ และเข้าไปจัดการป้องกันอย่างอื่นได้ทำไปก่อนล่วงหน้าแล้ว อย่างจังหวัดไหนที่น้ำไม่ท่วมก็ลงไปจัดเรื่องการจราจรต้องเลี่ยงคนออกนอกเส้นทาง ในส่วนของพระสงฆ์ก็อาจจะลำบากกว่าชาวบ้าน เพราะฉันวันละมื้อสองมื้อไม่เหมือนการช่วยชาวบ้าน
เมื่อถามว่า ทางจังหวัดมีงบประมาณในการช่วยเหลืออยู่แล้วแต่การช่วยเหลือทำไมไม่รวดเร็ว นายวิษณุ กล่าวว่า มี แต่จังหวัดอาจจะเข้าถึงลำบาก และกิจการที่จังหวัดต้องทำมีหลายอย่าง ต้องคิดหน้าคิดหลังว่าต้องเก็บเงินไว้ทำอะไรอีกหลายเรื่อง เช่น มีเงิน 50 ล้าน ต้องเก็บไว้ทำอีกหลายเรื่อง อย่างอีก 1 อาทิตย์ข้างหน้าจะมีพายุมาอีก 2 ลูก ก็ต้องใช้เงินจำนวนนี้ ดังนั้นต้องคิดให้มาก




เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ว่าเอกชนจะไปตรวจสอบ กรณีของกระทรวงหลักๆ ที่มีการบริจาคเงินผ่านกองทุนเป็นจำนวนหลายล้านบาท นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มีปัญหาเลย ทำกันมาตั้งหลายครั้งแล้ว เขาสามารถใช้เงินนั้นได้ โดยอาจเป็นเงินจากรัฐวิสาหกิจของเขาบ้าง เงินจากการบริจาคบ้าง หรือเงินที่มีเอาไว้สำหรับกรณีจำเป็นฉุกเฉิน อย่างตนเป็นรองนายกฯ ลงไปตรวจราชการในต่างจังหวัด หรือไปคุมพื้นที่ใด ก็สามารถอนุมัติเงินได้ เขตละ 50 ล้านบาท เป็นต้น ซึ่งยังไม่ได้จ่ายไปสักบาท เพราะยังเหลือเวลาอีกตั้ง 1 ปี ยังมีปัญหาภัยแล้งอีก ซึ่งงบกองทุนนี้สามารถใช้ในเรื่องของภัยแล้งได้ด้วย
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก WorkpointNews